วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2553


โครงการรถโดยสารด่วนพิเศษ BRT หรือ Bangkok BRT จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานคร ที่มีจำนวนประชากรมากถึง 10 ล้านคน เพื่อให้คนกรุงเทพฯ เดินทางถึงที่หมายตามเวลาที่กำหนดได้จริง สะดวก รวดเร็วและปลอดภัย


BRT ควบคุมการเดินทางด้วยเทคโนโลยี ITS และ GPS

จุดเด่นของระบบรถโดยสาร BRT คือ การมีช่องทางเดินรถเฉพาะ ชิดเกาะกลางของถนน โดยแยกออกจากกระแสการจราจรตามปกติ มีการควบคุมการเดินรถด้วยระบบขนส่งอัจฉริยะ ให้บริการทุกๆ 5-7 นาที มีการจัดเก็บค่าโดยสารด้วยระบบตั๋วไร้สัมผัส ที่สามารถใช้เป็นตั๋วร่วมกับระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ เช่น รถไฟฟ้า BTS และรถไฟฟ้าใต้ดิน รฟม. ควบคุมการเดินทางด้วยระบบเทคโนโลยีอัจฉริยะ ITS (Intelligent Transport System) นอกจากนี้ ยังมีศูนย์ควบคุมการเดินรถ ที่สามารถติดตามตำแหน่งของรถแต่ละคันด้วยระบบ GPS มีระบบโทรทัศน์วงจรปิดประจำรถทุกคัน

การเปิดให้บริการรถ BRT จะช่วยเป็นยกระดับการขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานคร ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการเชื่อมโยงระบบทั่วทุกพื้นที่ โดยสถานี BRT สาทร จะมีทางเดินลอยฟ้า (Sky Walk) เชื่อมต่อไปยังสถานีรถไฟฟ้า BTS สายช่องนนทรี เสมือนเป็นระบบเดียวกัน อีกทั้งเพื่อให้ผู้โดยสารคุ้นเคย กทม. และกรุงเทพมหานครยังจัดทำคู่มือโดยสาร BRT จำนวน 200,000 ฉบับ มอบให้ผู้ใช้บริการรถโดยสารด่วนพิเศษ BRT และสามารถรับคู่มือโดยสาร BRT ได้ที่สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) หรือสำนักงานเขตของ กทม. ทั้ง 50 เขต และตามสถานี BRT ทั้ง 12 สถานี

BRT จะผลักดันให้มีโครงการระบบขนส่งมวลชนในรูปแบบต่างๆ ที่เชื่อมโยงกันเป็นโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนประสิทธิภาพสูงยกระดับระบบขนส่งมวลชนใน กทม. และมีศักยภาพเทียบเท่ากับระบบขนส่งมวลชนในมหานครต่างๆ อาทิ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้, กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย รวมถึงกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน และกรุงโบโกตา ประเทศโคลัมเบีย ตลอดจนเมืองบอสตัน, ลอสแองเจลิส และซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

จากนี้คนกรุงเทพฯ ต้องร่วมกันลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว เปลี่ยนมานั่งรถสาธารณะ ซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่ทำให้ปัญหารถติดหมดไป